ลูกค้าเข้าแถวกันที่ด้านนอกของสำนกงานใหญ่ธนาคารซิลิคอนแวลลีย์แบงก์ ในเมืองซานตาคลารา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ตั้งแต่ก่อนเวลาเปิดทำการ เพื่อรอเข้าพบพูดคุยกับตัวแทนของบรรษัทประกันเงินฝากสหรัฐฯ (FDIC) เมื่อวันจันทร์ (13 มี.ค.) ทั้งนี้ ธนาคารแห่งนี้ซึ่งเจอผู้ฝากแห่กันมาถอนเงินอย่างตื่นตระหนก ถูกทางการรัฐแคลิฟอร์เนียประกาศยึดกิจการและแต่งตั้ง FDIC ให้เป็นผู้ดูแล ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นิวยอร์ก – พวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบการธนาคารของทางการสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (12 มี.ค.) เรื่องมาตรการขนาดมโหฬารเพื่อตอบโต้รับมือกับกระแสความแตกตื่นแห่ถอนเงินออกจากธนาคารซิลิคอนแวลลีย์แบงก์ (Silicon Valley Bank หรือ SVB) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และความเสี่ยงที่จะเกิดการแตกตื่นแห่ถอนเงินเช่นนี้ กับพวกธนาคาระดับภูมิภาคแห่งอื่นๆ ขึ้นมาบ้าง

ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve หรือ Fed) จะปล่อยเงินกู้ระยะเวลา 1 ปีซึ่งจะเป็นการรับประกันความมั่นคงให้ธนาคารเหล่านี้ โดยผ่านโปรแกรมใหม่ที่ใช้ชื่อว่า Bank Term Funding Program โปรแกรมนี้มุ่งกำจัดความเสี่ยงจากการที่แบงก์ทั้งหลายอาจถูกบีบบังคับให้ขายตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯที่พวกเขามีอยู่ในครอบครองคิดเป็นมูลค่ารวมๆ 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในราคาที่ขาดทุน

เวลาเดียวกัน บรรษัทประกันเงินฝากสหรัฐฯ (Federal Deposit Insurance Corporation หรือ FDIC) จะขยายการคุ้มครองให้ครอบคลุมพวกผู้ฝากเงินของ SVB ทุกๆ รายทั้งหมดทั้งสิ้น เช่นเดียวกับพวกผู้ฝากเงินกับธนาคารซิกเนเจอร์แบงก์แห่งนิวยอร์ก (Signature Bank of New York) ซึ่งก็เพิ่งถูกทางการผู้มีอำนาจของรัฐนิวยอร์กสั่งปิดไป โดยใช้เหตุผลที่ต้องกระทำเช่นนี้ว่า เนื่องจากเกิด “ความเสี่ยงเชิงระบบ”

ความเคลื่อนไหวของพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบของสหรัฐฯคราวนี้ คือการใช้ผ้าพันแผลขนาดค่อนข้างใหญ่โต ปิดลงบนบาดแผลเหวอะหวะในระบบการธนาคาร ซึ่งเป็นแผลที่พวกเขาเป็นผู้ทำขึ้นมาเอง ทั้งนี้จากที่ตอนแรกๆ มีการใช้มาตรการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเพื่อควบคุมกระแสพุ่งสูงของเงินเฟ้อ ซึ่งอันที่จริงไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับสินเชื่อเลย มาถึงตอนนี้กระทรวงการคลังและธนาคารกลางสหรัฐฯก็กำลังสร้างปัญหาด้านสินเชื่อขึ้นมาจริงๆ จากที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด การบ่อนทำลายตัวเองเช่นนี้แทบจะไม่สามารถหยิบยกตัวอย่างครั้งไหนๆ ที่อยู่ในประวัติบันทึกการกำกับตรวจสอบด้านการธนาคาร ขึ้นมาเปรียบเทียบได้เลย

ถึงแม้พวกผู้ฝากเงินจะไม่ต้องสูญเสียเงินทองแล้ว ทว่าพวกผู้ถือตราสารหนี้ของแบงก์ยังอาจจะเป็นผู้ที่ต้องสูญเสียอย่างเป็นกอบเป็นกำ นี่ย่อมเป็นลางร้ายสำหรับความหวังที่จะได้เห็นการกลับฟื้นตัวขึ้นมาของพวกตลาดสินเชื่อ ซึ่งอยู่ในภาวะถูกบีบเค้นหนักหน่วงอยู่แล้ว จากการใช้มาตรการคุมเข้มของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ประกาศที่ออกมาในวันอาทิตย์ (12 มี.ค.) มุ่งหมายจะผ่อนคลายความหวาดกลัวของตลาด หลังจากความแตกตื่นแห่ถอนเงินออกจาก SVB ได้เห็นเงินฝากจำนวน 45,000 ล้านดอลลาร์ไหลหายออกจากแบงก์ไปในเวลาแค่ 1 วันกว่าๆ ทำให้เกิดผวากันว่ามันอาจจะแผ่ลามไปสู่พวกแบงก์ระดับภูมิภาครายอื่นๆ โดยที่ราคาหุ้นของพวกแบงก์ระดับภูมิภาคได้พากันพังครืนเมื่อวันศุกร์ (10 มี.ค.) ในการแสดงปฏิกิริยาตอบสนองความหวาดหวั่นดังกล่าวนี้

ไม่เหมือนกับช่วงแห่งภาวะเครียดเค้นที่เคยเป็นมาในระบบการธนาคารสหรัฐฯ ครั้งก่อนๆ ในคราวนี้เรื่องคุณภาพสินทรัพย์ของแบงก์ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด อันที่จริง ระหว่างช่วงเกิดโรคระบาดใหญ่โควิด แบงก์ต่างๆ พากันสะสมพวกสินทรัพย์คุณภาพสูงที่สุดเอาไว้ในมือ (พวกตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลังและโดยหน่วยงานรัฐบาลแห่งอื่นๆ) ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯเที่ยวหว่านโปรยเงินทองจากพวกมาตรการกระตุ้นซึ่งรวมแล้วมีมูลค่าสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ ออกมาให้แก่ผู้บริโภคชาวอเมริกัน

จากการกระทำเช่นนั้น ได้ผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้พุ่งสู่ระดับสูงที่สุดนับแต่ปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ครั้นแล้วธนาคารกลางสหรัฐฯก็ตอบโต้ด้วยการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่การขึ้นดอกเบี้ยเช่นนี้กำลังกลายเป็นตัวลดทอนมูลค่าตามราคาตลาดของพอร์ตตราสารหนี้ซึ่งพวกแบงก์ถือครองอยู่

 

ติดตามข่าวสารรอบโลกได้ที่  lancer-club.net